รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศด้วยการเชื่อมโยงธุรกิจภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคเกษตรเข้าต้วยกัน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐาน “วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย” ที่เขื่อมโยงกับ “ความคิด” และ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ซึ่งนัยสำคัญคือ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย เข้ากับองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่เริ่มมองหาสิ่งใหม่ที่มากไปกว่าการใช้งานตามปกติ ทั้งในด้านของความสวยงาม สุนทรียภาพ และการตอบสนองความเป็นปัจเจกชน รวมทั้งการเกิดขึ้นของวิถีชีวิตใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลของสินค้าและบริการด้วยตนเอง รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้เกิดโอกาสและช่องทางในด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทย
ซึ่งหากวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยไม่ได้มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือเงินทุนจำนวนมากที่จะสามารถสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมของไทยได้ แต่ประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาผสมผสานและสร้างมูลค่าขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ดีภาคอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่เคยชินกับระบบทุนนิยมมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อาศัยเทคโนโลยีและเครื่องจักรในสายการผลิต ทำให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตกระทำได้ยาก แต่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs นับได้ว่ามีข้อได้เปรียบมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตหรือรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้ง่ายกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ รวมถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่แฝงอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมยังสามารถนำมาต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ง่าย
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเศรษฐิกจเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการบนรากฐานของศิลปะและภูมิปัญญาของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการละเมียดและความแตกต่างของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ OTOP หลายชนิดสามารถพัฒนากลายเป็นสินค้าชั้นสูงราคาแพงที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น ผู้ประกอบการมีดอรัญญิกที่พัฒนาและใช้ทักษะการทำมีดมาประยุกต์ทำอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม ที่มีราคาสูง เป็นต้น ดังนั้น การยกระดับและการสร้างผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็น Creative SMEs ที่ใช้ “วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย” มาต่อยอด “ความคิดในการพัฒนาออกแบบสินค้าและบริการ” การใช้ “เทคโนโลยสมัยใหม่” ในการปรับปรุงคุณลักษณะให้เกิดเป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงเป็นรากฐานการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต