กล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาในด้านต่างๆของประเทศ มีขอบเขตการใช้อย่างกว้างขวาง มีผลให้ชิวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้น โรคภัยลดลงหรือสามารถแก้ปัญหาได้ การเดินทางและการติดต่อสะดวกและรวดเร็วขึ้น การศึกษาก้าวหน้ากว่าอดีตมากมายนัก เพราะการดำรงชีวิตของมนุษย์มิใช่เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากธรรมชาติ หรือการทำตนอยู่เหนือธรรมชาติ หากแต่มนุษย์ต้องเรียนรู้ธรรมชาติที่จะดำรงชีวิตอย่างสันติร่วมกับผู้อื่น กับสังคมวัฒนธรรม และกับธรรมชาติ ดังนั้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา
การศึกษาและการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งของนักปราชญ์กลุ่มย่อยๆในสังคม ได้เปลี่ยนแปลงกลายมาเป็นอาชีพที่หลายคนให้ความเชื่อถือและใฝ่ฝันที่จะได้เข้าไปมีบทบาทร่วมดำเนินการ ฐานะ และภาพพจน์ของสังคมที่มีต่ออาชีพการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น ไม่ว่าจะเป็นของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือ นักเทคโนโลยี ไม่เป็นรองอาชีพใดๆ ประเทศมหาอำนาจต่างๆได้กำหนดนโยบายสนับสนุนงานค้นคว้าวิจัยเป็นอย่างมาก
แม้ว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยจะมีอยู่ในระดับสูง แต่เทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอื่นๆที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ ยังกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ การสื่อสาร โทรคมนาคม การขนส่ง คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นต้องรับเอามาจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนา ปรับปรุง ให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมของสังคมไทย
เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสินค้าและการบริการที่นำเข้า
1)เทคโนโลยีการเกษตร : ได้แก่ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้อาจจะต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการเก็บรักษาคุณภาพผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออก เครื่องจักรกลที่ทันสมัยมาช่วยทุ่นแรงในการทำไร่นา
2)เทคโนโลยีชีวภาพ : นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์ เช่น การผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ การผลิตยาบางชนิด
3)เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม : อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเคมี เช่น อุตสาหกรรมกรดกำมะถัน ต้องใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ
4)เทคโนโลยีทางการแพทย์ : เช่น เทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนายาใหม่ เทคโนโลยีการวินิจฉัยโรค เทคโนโลยีของอวัยวะเทียม เป็นต้น
5)เทคโนโลยีการสื่อสาร : ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ โทรสาร อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
6)เทคโนโลยีการขนส่ง : ได้แก่ การเดินรถ เช่น รถยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้าการเดินเรือ เครื่องบิน การขนส่งระบบคอนเทนเนอร์ เป็นต้น
7)เทคโนโลยีระดับสูง : ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์การสื่อสาร ระบบเลเซอร์ หุ่นยนต์ เป็นต้น
8)เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ : นับเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะต้องอาศัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของประเทศ เพื่อทำให้คนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงมิได้หมายความเพียงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่านั้น แต่เป็นการรู้จักปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสถานภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ขีดความสามารถ และความพร้อมของแต่ละคน