“นวัตกรรม” เป็นการใช้ความรู้ ทักษะการบริหารจัดการ รวมทั้งประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยี เพื่อการคิดค้น การประดิษฐ์ การพัฒนา การผลิตสินค้า การบริการ กระบวนการผลิต และการจัดการองค์กรในรูปแบบใหม่ ซึ่งโลกในปัจจุบันนี้หากองค์กรใดไม่สามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ย่อมที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ยากและไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้นำของธุรกิจได้ ดังนั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ (knowledge-based society) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
ศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม
การที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องมีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กร ดังเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของภาคเอกชนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการสะท้อนปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อภาครัฐ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการกระจายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้กับภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม
ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย
ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ซึ่งยังขาดความพร้อมด้านเงินลงทุนและบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาอย่างมาก ดังนั้น เอกชนไทยจึงยังไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับสูงได้ ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอยู่แล้ว แต่งานเหล่านี้ก็ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ นอกจากนี้ ในบางกรณียังอาจเป็นไปในลักษณะที่แข่งขันกับภาคเอกชนด้วย เช่น การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ รวมทั้งยังขาดตลาดในการรองรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชนอีกด้วย